การลงบัญชีทหารกองเกินที่อำเภอ
มาตรา ๑๖ บรรดาชายซึ่งมีสัญชาติไทย เมื่อมีอายุย่างเข้าสิบแปดปีในพุทธศักราชใด ให้ไปแสดงตนเพื่อลงบัญชีทหารกองเกินภายในพุทธศักราชนั้น ผู้ใดไม่สามารถไปลงบัญชีทหารกองเกินด้วยตนเองได้ ต้องให้บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะและเชื่อถือได้ไปแจ้งแทน ให้นายอำเภอสอบสวน เมื่อเห็นว่าถูกต้อง ให้ลงบัญชีทหารกองเกินไว้ ถ้าไม่มีผู้มาแจ้งแทน ให้ถือว่าผู้นั้นหลีกเลี่ยง ขัดขืนไม่มาลงบัญชีทหารกองเกิน เมื่อได้รับการขอลงบัญชีทหารกองเกิน ตามมาตรานี้ ให้นายอำเภอออกใบสำคัญหรือใบรับให้ ผู้ขอลงบัญชีทหารกองเกินไว้เป็นหลักฐานหากใบสำคัญชำรุดหรือสูญหาย ให้ผู้ถือแจ้งต่อนายอำเภอท้องที่ เพื่อขอรับใบสำคัญใหม่ โดยเสียค่าธรรมเนียม ฉบับละ หนึ่งบาท แต่ถ้าการชำรุดหรือสูญหายนั้นเป็นเพราะเหตุสุดวิสัยก็ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ผู้ซึ่งได้ลงบัญชีทหารกองเกิน ตามมาตรานี้แล้ว ให้ถือว่าเป็นทหารกองเกิน ตั้งแต่ วันที่ ๑ มกราคม ของพุทธศักราชถัดไป การลงบัญชีทหารกองเกิน ตามมาตรานี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง
(อธิบาย ม.๑๖ มาตรานี้เป็นบทบังคับเริ่มแรกที่ให้ประชาชนต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ รับราชการทหาร หรือพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ โดยปกติแล้วการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติรับราชการทหารจะต้องเริ่มจากมาตรานี้ก่อน นอกจากบางคนที่เริ่มปฏิบัติตามมาตรา ๑๘ ดังจะได้กล่าว ต่อไปเมื่อถึงมาตรานั้น ดังนั้น มาตรานี้จึงเปรียบเสมือนเป็นประตูที่เปิดให้บุคคลเข้าอยู่ในบังคับของ กฎหมายฉบับนี้ จนกว่าจะ ปลดพ้นราชการทหารประเภทใดประเภทหนึ่งออกไป ก็เป็นอันสิ้นสุดไม่ต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายฉบับนี้อีกต่อไป ผู้ที่ยังไม่ได้ปฏิบัติตาม มาตรานี้ หรือมาตรา ๑๘ ก็ไม่ตกอยู่ในบังคับของมาตราอื่น ๆ ทั้งหมด ผู้ที่อยู่ในบังคับของมาตรนี้ คือ บรรดาชายที่มีสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมาย ซึ่งได้อธิบายไว้แล้วในมาตรา ๗ และมาตรานี้บังคับเฉพาะบุคคลอายุเดียว คือ ผู้ที่มีอายุครบ ๑๗ ปีบริบูรณ์ หรือย่างเข้าสิบแปดปี การบังคับตามมาตรานี้ คือ บังคับให้ตัวไปแสดงตนเพื่อลงบัญชีทหารกองเกินการลงบัญชี
ทหารกองเกินก็คือการทำทะเบียนหลักฐานอย่างหนึ่งเช่นเดียวกับการทำทะเบียนบ้านเหมือนกัน แต่ทำเพื่อความมุ่งหมายคนละอย่าง การทำบัญช ีทหารกองเกิน ทำเพื่อให้เป็นหลักฐานสำหรับเรียกเข้าเป็นทหาร การไปลงบัญชีทหารกองเกิน ควรนำบัตรประจำตัวและสูติบัตร (ใบเกิด) พร้อมด้วยทะเบียนบ้าน ไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ด้วย ทั้งนี้เพื่อเจ้าหน้าที่สัสดีอำเภอจะได้ทำการตรวจสอบว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทยตามกฎหมายหรือไม่ เมื่อทำคำร้องแล้วเจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบกับทะเบียนบ้านอีกครั้งหนึ่ง ถ้าหลักฐานตรงกันและปรากฏว่าเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทยโดยแน่นอนแล้ว ก็จะออก ใบสำคัญให้ต่อไป ถ้าบังเอิญใบสำคัญหมด เจ้าหน้าที่ก็จะออกใบรับ (แบบ สด. ๑๐) ให้เป็นหลักฐานไว้ก่อนแล้วนัดวันให้มา รับใบสำคัญต่อไป ใบสำคัญนี้ถ้าชำรุดหรือสูญหาย ผู้ถือต้องแจ้งขอรับใบสำคัญใหม่ต่อนายอำเภอ ท้องที่ภายในกำหนด ๓๐ วัน โดยเสียค่าธรรมเนียมฉบับละ ๑ บาท แต่ถ้าการชำรุดหรือ สูญหายนั้น เป็นเพราะเหตุสุดวิสัยก็ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ถ้าไม่ปฏิบัติตามนี้มีความผิดตามมาตรา ๔๒ เช่นเดียวกับมาตรา ๙ สถานที่ที่ต้องไปแสดงตนขอลงบัญชีทหารกองเกินตามมาตรา ๑๖ นี้ “ ต้องไปแสดงตนเพื่อลงบัญชีทหารกองเกินที่อำเภอท้องที่ที่เป็นภูมิลำเนา ” ตามมาตรา ๕ ดังได้กล่าวมาแล้ว กำหนดเวลาในการไปลงบัญชีทหารกองเกินตามมาตรา ๑๖ ให้เวลาสิ้นสุดไว้เพียงสิ้นเดือนธันวาคมของปีที่มีอายุครบ ๑๗ ปีบริบูรณ์ หรือย่างเข้า ๑๘ ปี แต่ตามวิธีนับอายุที่ได้กล่าวมาแล้ว ผู้ใดจะมีอายุย่างเข้าอายุใหม่ ก็ต้องเริ่มตั้งแต่ต้นปี ดังนั้น จึงสรุปได้ว่ากฎหมายกำหนดระยะเวลาให้ไป ลงบัญชีทหาร กองเกิน ได้ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนธันวาคมของปีที่มีอายุย่างเข้า ๑๘ ปี การไปลงบัญชีทหารกองเกินตามมาตรา ๑๖ นี้ โดยปกติต้องไปขอลงบัญชี ด้วยตนเอง แต่ก็ยังมีข้อผ่อนผันสำหรับ ผู้ไม่สามารถจะไปลง บัญชีทหารกองเกินด้วยตนเองได้ โดยให้บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะและเชื่อถือได้ไปแจ้งแทน การผ่อนผันให้ตาม มาตรานี้ผ่อนผันให้ สำหรับผู้ที่ไม่สามารถไปด้วยตนเอง เท่านั้น มักจะมีการเข้าใจผิดกันบ่อย ๆ ว่า ถ้าตัวไม่อยากไปเองก็ให้คนอื่นไป แจ้งแทน เช่น นักเรียนที่อยู่ต่างจังหวัดเข้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพมหานคร ตัวไม่อยากไปขอลงบัญชีทหารกองเกินเอง ก็ให้บิดามารดาหรือญาติพี่น้องไป ขอลงบัญชีแทนอย่างนี้ ไม่ใช่กรณีที่ไม่สามารถเพราะตัวสามารถไปเองแต่ไม่ไป กฎหมายก็ให้กำหนดระยะเวลาไว้ถึง ๑๒ เดือนนักเรียนมีเวลาหยุดเทอม และยังมีวันหยุดอื่น ๆ อีก จึงต้องเข้าใจว่ากฎหมายผ่อนผันให้ในกรณีไม่สามารถเท่านั้นเช่น เกิดการเจ็บป่วย เป็นต้น ผู้ที่จะไปแจ้งแทนได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่ บรรลุนิติภาวะ คือ มีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ (นับชนวัน เดือน ปีเกิด) และบุคคลนั้นจะ ต้องเป็นที่เชื่อถือได้ด้วย โดยปกติก็ต้องเป็นผู้ที่รู้จัก
เมื่อเลยกำหนดเดือนธันวาคมไปแล้วไม่ไปขอลงบัญชีทหารกองเกินและไม่มีผู้ไปแจ้งแทนด้วย ถือว่าผู้นั้นหลีกเลี่ยงขัดขืน มีความผิดตามมาตรา ๔๔ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๓๐๐ บาทหรือจำคุกไม่เกิน ๓ เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าก่อนที่เจ้าหน้าที่ยกเรื่องขึ้นพิจารณาความผิด บุคคลนั้นได้มาขอลงบัญชีทหารกองเกินด้วยตนเอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ที่ได้ลงบัญชีทหารกองเกิน ตามมาตรานี้แล้ว ให้ถือว่าเป็นทหารกองเกินตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคมของพุทธศักราชถัดไป ไม่ว่าจะลงบัญชีทหารกองเกินวันและเดือนใด เช่น นาย ก. ลงบัญชีทหาร กองเกิน วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๗ นาย ข. ลงบัญชีทหารกองเกินวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๐๗ และ นาย ค. ลงบัญชีทหารกองเกินวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๗ ทั้ง นาย ก., นาย ข. และ นาย ค. จะเป็นทหารกองเกินพร้อมกันในวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๐๘ ก่อนถึงวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๘ ยังไม่เป็นทหารกองเกิน เรียกได้แต่เพียงว่าบุคคลที่ได้ลงบัญชีทหารกองเกินที่อำเภอตามมาตรา ๑๖ แล้วเท่านั้น